Saturday, December 15, 2007

ภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อนภายในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการบันทึกปีที่มีอากาศร้อนที่สุดถึง 3 ปีคือ ปี พ.ศ. 2533 พ.ศ.2538 และ พ.ศ. 2540 แม้ว่าพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เปลี่ยนหัวข้อจากคำถามที่ว่า "โลกกำลังร้อนขึ้นจริงหรือ" เป็น "ผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้นจะส่งผลร้ายแรงและต่อเนื่องต่อสิ่งที่มีชีวิตในโลกอย่างไร" ดังนั้น ยิ่งเราประวิงเวลาลงมือกระทำการแก้ไขออกไปเพียงใด ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ลูกหลานของพวกเราเอง
คณะกรรมการของรัฐบาลนานาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่มีองค์การด้านวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ เฝ้าสังเกตผลกระทบต่างๆ และได้พบหลักฐานใหม่ที่แจ่มชัดว่า ภาวะโลกร้อนขึ้นในช่วง 50 กว่าปีมานี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นในทุกหนทุกแห่ง ประมาณ 1.4-5.8 องศาเซลเซียส
สภาพภูมิอากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย แต่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและบ่อยครั้ง และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดไ ด้แก่ ความแห้งแล้งอย่างรุนแรง วาตภัย อุทกภัย พายุฝนฟ้าคะนอง พายุทอร์นาโด แผ่นดินถล่ม และการเกิดพายุรุนแรงฉับพลัน จากภาวะอันตรายเหล่านี้พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่เสี่ยงกับการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆ ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่และช่วยเหลือเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเป็นเหตุให้ปริมาณผลผลิตเพื่อการบริโภคโดยรวมลดลง ซึ่งทำให้จำนวนผู้อดอยากหิวโหยเพิ่มขึ้นอีก 60-350 ล้านคน
ในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ มีการจัดตั้งโครงการพลังงานต่างๆ และการดำเนินงานของโครงการเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล และปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละช่วงได้เปลี่ยนแปลงไป การบุกรุกและทำลายป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศน์ตามแนวชายฝั่ง และการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ได้ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี ดังนั้น แนวปะการังต่างๆ จึงได้รับผลกระทบและถูกทำลายเช่นกัน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 2,490 กิโลเมตร และเป็นแหล่งที่สำคัญมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และมีฤดูกาลที่ไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม มีผู้คาดการณ์ว่า หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 1 เมตรภายในทศวรรษหน้า หาดทรายและพื้นที่ชายฝั่งในประเทศไทยจะลดน้อยลง สถานที่ตากอากาศชายทะเล รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น พัทยา และ ระยองจะได้รับผลกระทบโดยตรง แม้แต่กรุงเทพมหานครก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นนี้เช่นกัน
ปัญหาด้านสุขภาพก็เป็นปัญหาร้ายแรงเรื่องหนึ่งที่เกิดจากจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้นส่งผลให้จำนวนยุงเพิ่มขึ้น นำไปสู่การแพร่ระบาดของไข้มาเลเรียและไข้ส่า นอกจากนี้โรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น อหิวาห์ตกโรค ซึ่งจัดว่าเป็นโรคที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วโรคหนึ่งในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเพราะอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น คนยากจนเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบของโรค แต่การให้ความรู้ในด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ดียังมีไม่เพียงพอ
ปัจจุบันนี้สัญญาณเบื้องต้นของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ปรากฏขึ้นอย่างแจ่มชัด ดังนั้น สมควรหรือไม่ที่จะรอจนกว่าจะค้นพบข้อมูลมากขึ้น หรือ มีความรู้ในวิธีแก้ไขมากขึ้น เพราะ ณ เวลานั้นก็อาจสายเกินไปแล้วที่จะแก้ไขได้

No comments: