Monday, November 19, 2007

พ่อหลวงของเรา




พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สืบแทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จสู่สวรรคาลัยโดยกะทันหัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ รัตนโกสินทร์ศก ๑๔๖ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซทท์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๓ พระนามเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช” ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ๑ พระองค์ มีพระนามเดิมและพระอิสริยยศต่อมาตามลำดับ ดังนี้
หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงได้รับการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ให้ทรงมีพระยศทรงกรมว่า กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
หม่อมเจ้าอานันทมหิดล ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลจึงได้ทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์เป็น พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ทรงพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ทรงได้รับการสถาปนามีพระยศทรงกรมว่า กรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้เสด็จทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงสำเร็จวิชา แพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาลจากโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙ ต่อจากนั้นทรงได้รับทุนการศึกษาของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไปทรงเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๐ ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชชนก ขณะดำรงพระยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓
เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาได้ ๑ พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไทย ครั้งนั้นได้ประทับที่วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อีกหนึ่งปีต่อมา ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงพระประชวร และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ในปีเดียวกัน





เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงรับพระราชภาระแห่งความเป็นแม่อย่างใหญ่หลวง เพราะต้องทรงอภิบาลพระโอรสธิดาองค์น้อยๆ โดยลำพังถึง ๓ พระองค์ และที่นับว่าเป็นพระราชภาระที่หนักยิ่งกว่าภาระของแม่ใดๆ ก็เพราะว่าพระโอรสธิดาที่ทรงอภิบาลรับผิดชอบนั้นต่อมาเป็นพระประมุขของประเทศถึง ๒ พระองค์ เพราะฉะนั้น การอภิบาลรักษาและการถวายการอบรมสั่งสอน จึงมีความยากและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
พระราชจริยาวัตรในเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงสอนพระโอรสธิดา ให้เรียนรู้เรื่องแผนที่และการใช้แผนที่ กล่าวคือ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ โรงเรียนเพาะช่างในสมัยนั้นจัดทำแผนที่ประเทศไทยโดยผลิตเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีกล่องไม้พร้อมฝาปิดเปิดสำหรับใส่เพื่อให้พระโอรสธิดาทั้ง ๓ พระองค์ ทรงเล่นเป็นเกมส์สนุกคล้ายการต่อรูปต่างๆ เป็นการสอนให้รู้จักประเทศไทย และรู้จักการดูการใช้แผนที่ไปพร้อมๆ กัน จึงกล่าวได้ว่าพระราชดำริสร้างสรรค์เหล่านี้ ประกอบกับคุณธรรมอีกหลายประการได้มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงต่อการที่ทรงอภิบาลและฝึกสอนพระโอรสธิดา ดังจะเห็นได้ว่าพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรอันงดงามหลายประการในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ส่งผล ไปถึงพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรของพระโอรสธิดา อาทิ พระราชอัธยาศัยโปรดการถ่ายรูปและถ่ายภาพยนตร์ ได้สืบทอดมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างครบถ้วน ดังจะเคยได้เห็นการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ใดจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์ คือ ทรงมีแผนที่ กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบด้วย เวลาทรงงานจะทรงใช้ยางลบเสมอ เมื่อทรงพบเห็นอะไรก็จะทรงขีดเขียนบนแผนที่ เช่นเดียวกับพระบรมราชชนนีที่ทรงกระทำมาก่อน บางครั้งจะทรงพบว่า ณ จุดทรงงานนั้นเป็นสถานที่บนภูเขาแต่ตามระวางของกรมแผนที่ระบุไว้ว่าเป็นธารน้ำ จึงดูคล้ายกับน้ำไหลขึ้นสูง และได้พระราชทานข้อสังเกตนี้แก่กรมแผนที่ซึ่งกรมแผนที่ได้สำรวจใหม่จึงพบว่าเป็นเรื่องผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เอง กลายเป็นน้ำไหลกลับขึ้นที่สูง จากนั้นกรมแผนที่ได้เขียนเป็นเอกสารถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักแผนที่ผู้ชำนาญพระองค์หนึ่งด้วย
พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ พรรษา ได้เสด็จทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา ๑ ปี หลังจากนั้นได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไม่ทรงแข็งแรง จำเป็นต้องประทับในสถานที่ซึ่งอากาศดีและไม่ชื้น พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระปิตุลา ทรงแนะนำให้เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอลเมียร์มองต์ (Ecole Mieremont) เมืองโลซานน์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อจบชั้นประถมศึกษาแล้ว ก็ทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอ ลาซืออิส โรมองด์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) เมืองแชลลี ซูร โลซานน์ (Chailly-sur-Lausanne)
พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนยิมนาส คลาสสิค กังโตนาล (Gymnase Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ แล้วทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ โดยเสด็จ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช หลังจากเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยชั่วคราวครั้งที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑ ครั้งหลังนี้ได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวังจนกระทั่งถึงวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน คณะรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในวันเดียวกัน
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชภารกิจในการศึกษาต่อ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น รวมเวลาที่เสด็จประทับในประเทศไทยได้ ๖ เดือน ในการทรงศึกษาต่อครั้งนี้ ทรงเลือกเรียนวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่แต่เดิมก่อนเสด็จนิวัตประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ผู้ซึ่งต่อมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคลและในพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ
พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทย ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลในเดือนมีนาคม ปีเดียวกัน
วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนต่อมา









พระราชกรณียกิจของในหลวง

พระราชกรณียกิจด้านฝนหลวง
ดังได้กล่าวแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้มีพระราชดำริให้ทำฝนหลวงขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และทรงสนับสนุนงานด้านนี้มาตั้งแต่ต้น โดยทรงติดตามการปฏิบัติงานทดลองอย่างใกล้ชิดมาทุกระยะ เมื่อทรงทราบว่า คณะปฏิบัติการฝนหลวงประสบปัญหาบางประการ ก็มีพระกรุณาพระราชทานข้อคิดเห็น ที่จะขจัดปัญหา และอุปสรรคต่างๆ เช่น ทรงพระราชทานคำแนะนำ ให้ไปทดลองที่หัวหิน เป็นประจำทุกเดือน เพื่อหาข้อมูล ในการทำฝนหลวงให้ได้ตลอดปี ทรงแนะนำฝึกฝนนักวิชาการให้ สามารถวางแผนปฏิบัติการอย่างเหมาะสม กับสภาพภูมิอากาศของแต่ละท้องถิ่น บางทีพระองค์ก็ทรงทดลองและควบคุมบัญชาการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เอง ก่อนจะทำฝนหลวงแต่ละครั้งจะทรงเตือนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพอากาศล่วงหน้า เพื่อป้องกันมิให้ก่อความเสียหาย แก่พืชผล และทรัพย์สินของราษฏร ทรงให้เร่งปฏิบัติการเมื่อสภาพอากาศอำนวยเพื่อจะได้ปริมาณน้ำฝนมากยิ่งขึ้น ทรงแนะนำให้ระวังสารเคมีบางอย่างซึ่งจะเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับฝนหลวงของพระองค์ มีเป็นอันมาก จะขอยกตัวอย่างให้ทราบดังนี้
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2512ทรงพระกรุณาเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไปทอดพระเนตรการทดลองทำฝนหลวงของคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการครั้งที่ 5 พร้อมกับได้พระราชทานพระบรมราโชวาทให้คณะปฏิบัติการฯ พยายามอดทนต่อความยากลำบาก เพราะเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่งในการ ช่วยให้ประชาชน คลายความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ ทรงแนะนำให้ศึกษาข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางภาคพื้นดินให้มากยิ่งขึ้น เช่น แผนภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ทางภาคพื้นดินในอาณาบริเวณนั้น การสร้างเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศตอนใกล้พื้นดินให้สูงขึ้น พร้อมกับทรงสาธิตให้คณะเจ้าหน้าที่ดูวิธีการสร้างความชื้นสัมพัทธ์โดยโปรดเกล้าฯ ให้รถดับเพลิงของพระราชวังไกลกังวลมาพ่นละอองน้ำให้เป็นฝอยขึ้นในอากาศ แล้วเสด็จฯ เข้าไปในละอองน้ำที่ฉีด เพื่อนำเครื่องมือเข้าไปวัดความชื้นโดยไม่หวั่นว่าพระวรกายจะเปียกเปื้อนแต่ประการใด ปรากฏว่าสามารถสร้างความชื้นสัมพัทธ์ได้ตามที่ทรงรับสั่ง นอกจากนั้นยังทรงแนะนำว่าควร เพิ่มหน่วยสังเกตการณ์ภาคพื้นดินเพื่อจะได้ศึกษาปริมาณน้ำฝนตามจุดต่างๆ และได้ข้อมูลอื่นๆ ละเอียดยิ่งขึ้น
ในการเสด็จทอดพระเนตรครั้งนี้ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาท ซึ่งคณะปฏิบัติการทดลองในครั้งนั้น น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จดจำไว้เปรียบเสมือนเป็นพระบรมราโชวาท และได้ปฏิบัติตามสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ พอสรุปได้ดังนี้
การวิจัยและค้นคว้าทดลองเป็นสิ่งสำคัญต้องดำเนินการต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด
อย่าสนใจต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ก่อให้เกิดความท้อแท้ใจให้มุ่งมั่นพัฒนาต่อไป
ให้บันทึกรวบรวมไว้เป็นตำรา
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน เพื่อทอดพระเนตรการทดลองทำฝนหลวง พร้อมกับพระราชทานปีกเครื่องหมายฝนหลวงแก่คณะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และทรงประกอบพิธีเจิมเครื่องบินทำฝนหลวงลำใหม่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบประมาณให้จัดซื้อสำหรับใช้ทำฝนหลวงเป็นลำแรก เพื่อเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ต้องปฏิบัติงานเสี่ยงอันตราย ในโอกาสนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะเจ้าหน้าที่จากประเทศออสเตรเลีย 3 นาย ซึ่งตามเสด็จไป ชมการทดลองทำฝนหลวงในครั้งนี้ได้เข้าเฝ้าฯ และทรงมีพระราชปฏิสันถารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำฝนหลวงกับผู้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิดโดยไม่ถือพระองค์ ทั้งนี้ทำให้ชาวต่างประเทศทั้ง 3 นาย ต่างรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมกับชมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาชาญในเรื่องฝนหลวงอย่างยิ่ง
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2515 ทรงควบคุมบัญชาการทดลองทำฝนหลวงสาธิตให้คณะผู้แทนรัฐบาลสิงค์โปร์รวม 3 นาย ชมที่บริเวณอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ด้วยความมั่นพระทัยว่า จะสามารถทำให้ฝนตกในอ่างเก็บน้ำดังกล่าวได้ การที่ทรงเลือกอ่างเก็บน้ำดังกล่าวเป็นเป้าหมาย เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศใกล้เคียงกับประเทศสิงค์โปร์ เพื่อคณะผู้แทนสิงค์โปร์อาจนำวิธีการไปปฏิบัติได้ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจานนี้ นับเป็นเป้าหมายปฏิบัติการที่เล็กที่สุด ยากที่จะทำให้ฝนตกตรงเป้าหมายอันมีเนื้อที่จำกัดได้ การทดลองครั้งนี้ได้ใช้เครื่องบินของกองบินตำรวจร่วมกับเครื่องบินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตั้งฐานปฏิบัติการที่ สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน โดยพระองค์ทรงควบคุมบัญชาการด้วยวิทยุของพระองค์เองจากแก่งกระจาน ด้วยพระปรีชาสามารถทำให้ฝนตกลงอ่างเก็บน้ำพอดี ภายในเวลาเพียง 5 ชั่วโมง เป็นที่ตื่นเต้นและประทับใจของผู้แทนสิงค์โปร์เป็นอย่างยิ่ง
ระหว่างวันที่ 15 - 29 พฤศจิกายน 2515 ทรงวางแผนปฏิบัติการและบัญชาการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เองจากพระตำหนักจิตรลดาฯ โดยทางวิทยุตำรวจ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ให้มากขึ้นในช่วงท้ายฤดูฝน ซึ่งไม่มีตัวการหรือดีเปรสชั่นที่จะทำให้เกิดฝนตก แต่สภาพภูมิอากาศที่เขื่อนภูมิพลขณะนั้นยังมีความชื้นสัมพัทธ์พอจะอำนวยให้ปฏิบัติการทำฝนหลวงได้ ปรากฏว่าในช่วงเวลาที่ทรงปฏิบัติการนั้น ตามสถิติของเขื่อนภูมิพลปริมาณน้ำในอ่างกำลังเริ่มลดระดับลงเรื่อยๆ เนื่องจากปริมาณฝนธรรมชาติเริ่มน้อยลงตามลำดับ การปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เครื่องบินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งฐานปฏิบัติการที่สนามบินของเขื่อน ทำให้ฝนตกลงสู่ผิวน้ำและลุ่มรับน้ำของเขื่อนทุกวันคิดเป็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในอ่างถึง 620 ล้านลูกบาศก์เมตร และระดับน้ำสูงขึ้นจากเดิมถึง 150 เซนติเมตร แทนที่จะลดลงตามสถิติดังเช่นทุกปีมา ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้เมื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วจะเป็นมูลค่าไม่น้อย
ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม ถึง 26 สิงหาคม 2517 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฝนหลวงพิเศษ โดยทรงปฏิบัติการร่วมกับ คณะปฏิบัติการฝนหลวง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเกิดภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงระยะยาวใน 16 จังหวัด ราษฎรขาดแคลนน้ำสำหรับต้นกล้าข้าว ส่วนกล้าที่ตกไว้ก็ขาดน้ำหล่อเลี้ยง กำลังจะแห้งตายเป็นส่วนใหญ่ ชาวนาไม่สามารถไถเตรียมเทือก เพื่อปักดำกล้าข้าว ที่ได้อายุครบปักดำ นับเป็นพื้นที่แห้งแล้งกว้างใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยทำฝนหลวงมา จากรายงานของทั้ง 16 จังหวัดที่แห้งแล้งในภาคนี้ เป็นพื้นที่ถึง 17 ล้านไร่ การปฏิบัติการได้ใช้เครื่องบินบรรทุกขนาดใหญ่แบบ C123 ของกองทัพอากาศถึง 2 เครื่อง กับเครื่องบินปอร์ตเตอร์ ของกรมตำรวจอีก 2 เครื่อง สมทบกับเครื่องบินของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 8 เครื่อง ระดมกันปฏิบัติการช่วยเหลือเป็นเวลา 45 วันโดยตั้งฐานปฏิบัติการที่สนามบิน จังหวัดขอนแก่น ปฏิบัติการครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอำนวยการ และวางแผนปฏิบัติการประจำวัน เป็นส่วนใหญ่ ปรากฏว่า ก่อนลงมือปฏิบัติการชาวนาสามารถปักดำได้เพียงร้อยละ 5 ของเนื้อที่ปักดำทั้งหมดในภาคนี้ และหลังจากปฏิบัติการแล้วได้รับรายงานจากทุกจังหวัด ในเขตปฏิบัติการว่า ชาวนาสามารถตกกล้าข้าวได้เพิ่มขึ้น ทั้งช่วยกล้าข้าวที่เพาะไว้แล้วให้รอดพ้นจากความเสียหาย จนสามารถปักดำเป็นเนื้อที่เพิ่มเฉลี่ยประมาณร้อยละ 55 และมีหลายจังหวัดที่สามารถปักดำได้เกือบเต็มพื้นที่นาทั้งหมด

พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยประชาชนชาวไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังพระราชดำรัสที่ว่า ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วง และเอื้ออาทรต่อทุกข์สุขของพสกนิกรอย่างจริงจัง โดยเฉพาะความทุกข์ของไพร่ฟ้าจากพยาธิภัย ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ ทั้งแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และแพทย์อาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รักษาผู้ป่วยไข้ได้ทันที นอกเหนือจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้
โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน
โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์
หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน
โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน
โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์
หน่วยงานฝ่ายคนไข้ ในกองราชเลขานุการ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาแพทย์ศาสตร์ตอนหนึ่งว่า จึงใคร่ขอร้องให้ทุก ๆ คนตั้งใจ และพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผลสมบูรณ์จริง ๆ อย่าปล่อยให้กำลังของชาติต้องเสื่อมถอยลงเพราะประชาชนเสียสุขภาพอนามัยนับเป็นพระราชดำรัสที่แสดงถึงความตั้งพระทัยในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรอย่างแท้จริง ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นที่จะสืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย และสมเด็จพระบรมราชชนนี พระมารดาของการแพทย์ชนบท ในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่าการศึกษาของเยาวชนนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ ดังพระราชดำรัสที่ว่า การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล หากสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนในทุกๆ ด้านแล้ว สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถดำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปโดยตลอด[2] พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนี้
โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้การอุปถัมป์ในด้านต่างๆ เช่น ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนของโรงเรียน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์มีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ดังนี้
โรงเรียนจิตรลดา
โรงเรียนราชวินิต
โรงเรียนวังไกลกังวล
โรงเรียนราชประชาสมาสัย
โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท
โรงเรียนร่มเกล้า
โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน
ทุนการศึกษาพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีว่าเด็กและเยาวชนของไทยมิได้ขาดสติปัญญา หากแต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์สำหรับการศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาหลายขั้นหลายทุน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ดังนี้
ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แก่นิสิตนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นในด้านต่างๆ ให้นิสิตนักศึกษาเหล่านั้นได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้วิชาการชั้นสูงในต่างประเทศ และนำความรู้นั้นกลับมาใช้พัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
ทุนเล่าเรียนหลวง
ทุนมูลนิธิภูมิพล
ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย
ทุนนวฤกษ์
ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเริ่มดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหาอ่านทราบโดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาเพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครูและที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี[3]
ปัจจุบันโครงการฯ ได้จัดทำหนังสือสารานุกรมไทยที่บรรจุความรู้ใน ๗ สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ขณะนี้มีออกมาแล้ว ๒๘ เล่ม โดยแต่ละเล่มได้จัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็นสามระดับ เพื่อที่จะให้เยาวชนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ตามพื้นฐานของตน
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ในทุกๆ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์จะเสร็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา แม้พระราชกรณียกิจนี้จะเป็นภาระแก่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์มาก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้คงพิธีพระราชทานปริญญา

พระราชกรณียกิจเรื่องด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ถึง ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวม ๒๗ ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้นให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพื่อนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปมอบให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ โดยรายชื่อประเทศต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือน มีตามลำดับดังนี้
ประเทศเวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ - ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๓
สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ - ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน - ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
สาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ - ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓
ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓
ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓
สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ ๒๘ กันยายน - ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
ประเทศเบลเยียม ระหว่างวันที่ - ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
ประเทศลักเซมเบิร์ก ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม - ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ - ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๓
สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
สหพันธรัฐมลายา ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕
ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม - ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๕
ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤษภาคม - ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖
สาธารณรัฐจีน ระหว่างวันที่ ๕ - ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ - ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ (เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง)
สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน - ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ (เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง)
ประเทศอิหร่าน ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐
สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๖ มิถุนายน - ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐ (เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง)
ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีก เพราะทรงเห็นว่าพระราชภารกิจภายในประเทศนั้นมีมากมาย อย่างไรก็ตาม หากประมุขหรือรัฐบาลของประเทศใดกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชโอรส หรือพระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี รวมทั้งเพื่อทอดพระเนตรวิทยาการ และศิลปวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ
จนกระทั่งวันที่ - ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศลาว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งนับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ว่างเว้นมาเป็นเวลานานกว่า ๓๐ ปี
พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น รวมไปถึงการเสด็จพระราชดำเนินออกให้การต้อนรับราชอาคันตุกะจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้บรรดาทูตานุทูตเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสาส์นตราตั้งในการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย และถวายบังคมทูลลาเมื่อครบวาระอีกด้วย

พระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับพระพุทธศาสนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะ ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งพิธีบรรพชาอุปสมบทนั้นได้มีบันทึกไว้อย่างละเอียดดังต่อไปนี้...
พระราชพิธีบรรพชาอุปสมบท ลุถึงวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 เป็นวันที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย และจดจำในดวงใจของพสกนิกรชาวไทยทุกคน ด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ จักได้ทรงสละราชสมบัติ เสด็จออกทรงพระผนวชในบวรพระพุทธศาสนา โดยทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระราชพิธีบรรพชาอุปสมบทของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า อันจัดเป็นพระราชพิธีมหามงคลอันยิ่งใหญ่ เริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงพระดำเนินสู่ที่เปลื้องเครื่องหลังพระอุโบสถ เสร็จแล้ว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงจรดพระกรรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นพระฤกษ์ (ใช้กรรไกรขริบเส้นผมเป็นปฐมฤกษ์) จากนั้นเจ้าพนักงานภูษามาลาถวายต่อจนเสร็จ
ครั้นเวลา 15.00 น. ล่วงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศวตพัสตร์ตามแบบผู้แสวงอุปสมบท ทรงพระดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถทางพระทวารหลังแล้วเสด็จออกหน้าพระฉาก ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว ทรงรับผ้าไตรและบาตรสำหรับทรงอุปสมบท จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปประทับในท่ามลางสังฆสมาคมในพระอุโบสถ มีพระสงฆ์ผู้จะนั่งหัตถบาส จำนวน 30 รูป อยู่ด้านเหนือ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นพระราชอุปัชฌายาจารย์ (อุปัชฌาย์) และถวายศีล สมเด็จพระวันรัต วัดเบญจมบพิตร เป็นพระราชอนุสาวนาจารย์ ภายในพระอุโบสถทางด้านใต้ มีพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมมนตรี คณะรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท นอกจากนั้น เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ที่ชานพระอุโบสถทั้งหน้าหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเครื่องราชสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นพระราชอุปัชฌายาจารย์ แล้วทรงขอบรรพชา สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ทรงถวายโอวาทสำหรับบรรพชาความว่า "บัดนี้ สมเด็จพระบรมบพิตรทรงมีพระราชศรัทธาความเชื่อ พระราชปสาทะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทรงขอบรรพชาอุปสมบท รวมความว่า บวชในพระพุทธศาสนาตามพระราชประเพณีของพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นบรมราชจักรีวงศ์และตามแบบของกษัตริย์ก่อนๆ เพราะฉะนั้น จึงควรน้อมพระราชหฤทัยระลึกถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมศาสดา ประกาศพระศาสนา และทรงระลึกถึงพระธรรม คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประกาศสัจจะความจริงอันไม่แปรปรวน และระลึกถึงพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วได้ความเชื่อความเลื่อมใส ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจนได้ดบรรลุถึงคุณพิเศษในพระพุทธศาสนา คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้น ในบัดนี้ จงตั้งพระราชหฤทัยระลึกถึงคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่าศาสนธรรมอันประกาศสัจธรรม ธรรมะที่เป็นจริง และระลึกถึงพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า เช่นนี้ จึงควรบวชในพระพุทธศาสนา